โรคปวดกล้ามเนื้อหลัง Musculotendinous Strain

โรคปวดกล้ามเนื้อหลัง Musculotendinous Strain

ลักษณะทั่วไป
โรคปวดกล้ามเนื้อหลัง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการปวดหลัง พบได้ตั้งแต่วัยหนุ่ม สาวเป็นต้นไป เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง และมักจะหายได้เอง แต่อาจเป็นๆ หาย ๆ เรื้อรังได้

สาเหตุ
มักเกิดจากการทำงานก้ม ๆ เงย ๆ ยกของหนัก นั่ง ยืน นอน หรือยกของในท่าที่ไม่ถูกต้อง ใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไป หรือนอนที่นอนนุ่มเกินไป ทำให้เกิดแรงกดตรงกล้ามเนื้อสันหลังส่วนล่าง ซึ่งจะมีอาการเกร็งตัว ทำให้เกิดอาการปวดตรงกลางหลังส่วนล่าง คนที่อ้วน หรือ หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ก็อาจมีอาการปวดหลังได้เช่นกัน

อาการ
ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตรงกลางหลังส่วนล่าง (ตรงบริเวณกระเบนเหน็บ) ซึ่งอาจเกิดขึ้นเฉียบพลันหรือค่อยเป็นทีละน้อยอาการปวดอาจ เป็นอยู่ตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะในท่าบางท่า การไอ จาม หรือบิดตัว เอี้ยวตัวอาจทำให้รู้สึกปวดมากขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะแข็งแรงดี และไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอะไร

การรักษา
1. สังเกตว่ามีสาเหตุจากอะไร แล้วแก้ไขเสีย เช่น ถ้าปวดหลังตอนตื่นนอน ก็อาจเกิดจากที่ นอนนุ่มไป หรือนอนเตียงสปริงก็แก้ไขโดยนอนบน ที่แข็งและเรียบแทนถ้าปวดหลังตอนเย็น ก็มักจะเกิดจากการนั่งตัวงอตัวเอียง หรือใส่รองเท้าส้นสูง ก็พยายามนั่งให้ถูกท่า หรือเปลี่ยน
เป็นรองเท้าธรรมดาแทน ถ้าอ้วนไป ควรพยายามลดน้ำหนัก
2. ถ้ามีอาการปวดมาก ให้นอนหงายบนพื้น แล้วใช้เท้าพาดบนเก้าอี้ให้เข่างอเป็นมุมฉาก สักครู่หนึ่งก็อาจทุเลาได้ หรือจะใช้ยาหม่อง หรือน้ำมันระกำทานวด หรือใช้น้ำอุ่นประคบก็ได้ ถ้าไม่หาย ก็ให้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน, พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด จะกินควบกับ
ไดอะซีแพมขนาด 2 มก.ด้วยก็ได้ ถ้ายังไม่หาย อาจให้ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น เมโทคาร์บา มอล , คาริโซม่า ครั้งละ 1 เม็ด ซ้ำ
ได้ทุก 6-8 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรนอนที่นอนแข็ง และหมั่นฝึก กายบริหารให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง
3. ถ้าเป็นเรื้อรัง หรือมีอาการชาที่ขา หรือขาไม่มีแรง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ควรแนะนำ ผู้ป่วยไปโรงพยาบาล อาจ ต้องเอกซเรย์หลัง หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ และให้การรักษาตาม สาเหตุที่พบ

ข้อแนะนำ
อาการปวดหลังแบบนี้เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในหมู่ชาวไร่ชาวนา กรรมกรที่ทำงานหนัก และใน หมู่คนที่ทำงานนั่งโต๊ะนาน ๆ ซึ่งมักจะเข้าใจผิดว่า เป็นอาการของโรคไต โรคกษัย และซื้อ ยาชุด ยาแก้กษัย หรือยาแก้โรคไต กินอย่างผิด ๆ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดโทษได้ ดังนั้น จึงควรแนะนำชาวบ้านเข้าใจถึง สาเหตุของอาการปวดหลัง และควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น โดยทั่วไป การปวดหลังเนื่องจากกล้ามเนื้อ มักจะปวดตรงกลางหลัง ส่วนโรคไตมักจะปวดที่สีข้าง และอาจมีไข้สูง หนาวสั่น หรือปัสสาวะขุ่นหรือแดงร่วมด้วย

การป้องกัน
โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยระวังรักษาท่านั่ง ท่ายืน ท่ายกของ ให้ถูกต้อง หมั่นออกกำลัง กล้ามเนื้อหลังเป็นประจำ และนอนบนที่นอนแข็ง
โรคปวดหลังป้องกันได้ไม่ยากBack pain โรคปวดหลังพบได้บ่อยรองจากโรคปวดหัว เมื่อคุณอายุมากอาจ จะต้อง เผชิญกับโรคนี้ "คิดป้องกันตอนนี้จะได้ไม่เป็นโรคปวดหลัง" สาเหตุของการปวดหลังนั้นมีมากมาย ขึ้นกับอายุของผู้ป่วย ในวัยหนุ่มสาวหรือกลางคน ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากการอักเสบของเอ็น และกล้ามเนื้อบริเวณสันหลัง อาจเกิดจากการ จัดท่าทางของร่างกายไม่ถูกต้อง เช่น นั่งหลังงอ, เดินหลังโก่ง หรือยกของหนักผิดวิธี ฯลฯ การรักษาจึงเป็นเพียงการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ แก้ปวด การจัดท่าทาง ให้ถูกต้องและการบริหารกล้ามเนื้อเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ก็จะเพียงพอ
ยังมีสาเหตุของการปวดหลังในวัยหนุ่มสาว และกลางคน ที่พบได้ไม่น้อยเลยคือ หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทขา ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดตะโพก ส่วนใหญ่จะร้าวลงขา มีบางรายอาจจะไม่ร้าวลงถึงต้นขา แต่อาการปวดจะยังคงอยู่แค่บริเวณตะโพกและหลังเท่านั้น ในรายเช่นนี้ อาการปวดมักจะเป็นมากขึ้น
เมื่อก้มหรือ ไอ , จาม และดีขึ้นเมื่อได้นอนราบ
ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนี้ สามารถวินิจฉัยได้จากการ
ซักถามประวัติและตรวจร่างกาย, มีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาและการทำกายภาพบำบัดค่อนข้างดี มีบางส่วนเท่านั้นที่อาการไม่ดีขึ้น ซึ่งต้องได้รับการยืนยันการวินิจฉัยโรค ด้วยการเอ็กซเรย์พิเศษอาจจะเป็นการฉีดสีเข้าบริเวณไขสันหลัง (Myelogram) หรือการเอ็กซเรย์
คอมพิวเตอร์แม่เหล็ก (MRI) ก็ได้ เมื่อยืนยันการวินิจฉัยได้แล้ว ก็สามารถให้การรักษาในขั้นต่อไปได้โดยอาจจะเป็นการฉีดยาเข้าบริเวณ ไขสันหลังหรือการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทนั้นออก
ส่วนในวัยสูงอายุอาการปวดหลังมักมีสาเหตุจากการเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลัง
เช่นกระดูกสันหลังงอกดทับเส้นประสาท หรือมีการเคลื่อนตัวของข้อกระดูกสันหลังออกจากตำแหน่งเดิม ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ, ตรวจร่างกาย และเอ็กซเรย์ การรักษาเบื้องต้นก็ยังคงเป็นการรับประทานยา, ใส่เสื้อรัดเอว, ทำกายภาพบำบัดเสียก่อน
ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นมากขึ้น ก็อาจจะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดรักษา

สาเหตุอื่นๆส่วนน้อย ที่ทำให้มีอาการปวดหลังได้ ก็คือ ปวดจากการร้าวของอวัยวะของช่องท้อง เช่น นิ่วที่ไต, ตับอ่อนอักเสบ ฯลฯ ซึ่งพบไม่บ่อยนัก จากประวัติอาการปวด, ตรวจร่างกาย, เอ็กซเรย์รวมถึงการตรวจทางห้องทดลอง (เลือด, ปัสสาวะ) ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ถูกต้อง
พอสมควรอยู่แล้ว

สาเหตุ โรคปวดหลังนั้นมีมากมาย ได้แก่
โดยกำเนิด, อุบัติเหตุ, เนื้องอก, ติดเชื้อ, อักเสบ, โรคเมตาบอลิก, โรคในช่องท้อง, โรคกระดูกสันหลังเสื่อม แต่สาเหตุที่เป็นกันมาก และ สามารถป้องกันรักษาได้ คือ โรคกระดูกสันหลังเสื่อม น้ำหนักตัวมาก ท่าทางไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกายทำให้ลงพุงเอวแอ่นมาก
คนที่ลงพุง น้ำหนักที่มากขึ้นคูณกับพุงที่ยื่นมาด้านหน้า ทำให้กล้ามเนื้อ หลังต้อง ออกแรงดึง มากขึ้น การดึงเป็นเวลานานๆ ทำให้กระดูกสันหลัง เสื่อมเร็ว ทำให้ปวดหลังได้

ท่าทางที่ไม่เหมาะสม หลังจะค่อมทำให้เอวแอ่นมากขึ้น การที่เอว แอ่นมากขึ้น ทำให้ช่องทางออก ของเส้นประสาท แคบลง เส้นประสาท ถูกเบียดมากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้ปวดหลัง เอวแอ่นอยู่เป็นเวลานานๆ ทำให้ หมอนรองกระดูกรับน้ำหนักไม่สมดุลย์กัน จึงเกิดการเสื่อมของหมอนรอง กระดูก ซึ่งมีผลทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมตามมา


การรักษา ที่ดีที่สุด คือ ป้องกันสาเหตุ ได้แก่
1. ลดน้ำหนักตัว ไม่ใช่การอดอาหาร แต่เป็นการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่งดเว้นการกินอาหารที่มีแคลอรี่สูง มากเกิน ความจำเป็น เช่น ดื่มน้ำหวาน
2. ท่าทางเหมาะสมท่ายืน ที่ถูกต้อง คือ แขม่วท้องอกผายไหล่ผึ่งเอวแอ่นน้อยที่สุด ถ้าต้องยืนเป็นเวลานานควรมี
ที่พักเท้า การยืนห่อไหล่พุงยื่น ทำให้เอวแอ่น มากปวดหลังได้ท่านั่ง ที่ถูกต้อง สันหลังตรงพิงพนัก เก้าอี้สูงพอดี และควรมีที่พักแขน การนั่งห่างจากโต๊ะ
มากทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานมาก ที่นั่งที่เหมาะสม ที่สุดในการพักผ่อน ควรเอียง 60 องศา จากแนวตั้ง มีส่วนหนุนหลัง มีที่วางแขน ทำด้วยวัสดุนุ่มแต่แน่นท่านั่งขับรถ ที่ถูกต้อง หลังพิงพนัก เข่างอเหนือระดับสะโพก การนั่งห่างเกินไป ทำให้เข่าต้อง เหยียดออกกระดูกสันหลังตึง
ท่ายกของ ที่ถูกต้อง ควรย่อตัว ยกของให้ชิดตัว แล้วลุกด้วยกำลังขา การก้มลงหยิบของในลักษณะ เข่าเหยียดตรง ทำให้ปวดหลังได้
ท่าถือของ ที่ถูกต้องควรให้ชิดตัวที่สุด การถือของห่างจากลำตัว ทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหนัก ปวดหลังได้
ท่าเข็นรถ ที่ถูกต้อง ควรดันไปข้างหน้า ออกแรงที่กล้ามท้อง การดึง ถอยหลังจะออกแรงที่กล้ามเนื้อ หลังเป็นเหตุให้ปวดหลังท่านอน ที่นอน ควรจะแน่น ยุบตัวน้อยที่สุด ไม่ควรใช้ฟูกฟองน้ำ หรือเตียงสปริง เพราะหลัง จะจมอยู่ในแอ่ง ทำให้กระดูกสันหลังแอ่น มากปวดหลังได้
นอนคว่ำ จะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากที่สุด โดยเฉพาะระดับเอว ทำให้ปวดหลังได้นอนหงาย ทำให้หลังแอ่นได้เล็กน้อย ควรใช้หมอนข้างใบใหญ่ หนุนใต้ โคนขา จะช่วยให้กระดูก สันหลังไม่แอ่นนอนตะแคง เป็นท่านอนที่ดี ควรให้ขาล่างเหยียดตรง ขาบนงอ สะโพก และเข่ากอดหมอนข้าง
3. การออกกำลังกายกระดูกสันหลังปกติรับน้ำหนักมากอาจหลุดได้ แต่นักกีฬายกน้ำหนัก ได้มาก เพราะมีกล้ามเนื้อท้อง
แข็งแรง เปรียบเสมือนมีลูกบอลคอยช่วย รับน้ำหนักไว้ การออกกำลังกายที่จำเป็นต้องทำเป็นประจำ
ปวดหลัง /Back pain:
จาก หน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพคลีนิค ผู้ป่วยนอก ออร์โทบิดิกส์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
จารุณี นันทวโนทยาน รวบรวม ร.ศ. นพ. วิเชียร เลาหเจริญสมบัติ ที่ปรีกษา

ปวดหลัง-ปวดเอว เป็นอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน จากสถิติ มนุษย์ร้อยละ 80 เคยมีประสบการณ์การปวดหลัง-ปวดเอว อาการปวดจะแสดงได้ต่าง ๆ กัน บางท่านอาจปวดเฉพาะ บริเวณหลังหรือกระเบนเหน็บ หรือบางท่านอาจปวดหลัง และร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง
สองข้างและมีอาการชาร่วมด้วยจนเดินไม่ได้ก็มี หลังที่สมบูรณ์แข็งแรงจะยืดหยุ่นและไม่ปวดมีการทำงานของระบบโครงสร้าง คือ
กระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกกล้ามเนื้อและเอ็นอย่างเหมาะสม และปกป้องอันตรายไม่ให้เกิดกับประสาทไขสันหลัง

สาเหตุอาการปวดหลัง
1.) การใช้กิริยาท่าทางต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไม่ถูกต้อง
2.) ความเสื่อมของกระดูกและข้อจากวัยที่สูงขึ้น
3.) ขาดการออกกำลังกายหรือมีการเคลื่อนไหวที่จำกัด
4.) ความผิดปกติของกระดูกสันหลังแต่กำเนิด เช่น หลังคด หลังแอ่น
5.) การมีการอักเสบหรือติดเชื้อ เช่น วัณโรคของกระดูกสันหลัง
6.) การได้รับอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง
7.) การมีเนื้องอกของประสาทไขสันหลังหรือมะเร็งที่แพร่กระจายมายังกระดูกสันหลัง
8.) อาการปวดร้าวมายังหลังจากโรคของอวัยวะในระบบอื่น ๆ เช่นนิ่วในไต เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน
9.) ปัญหาที่ทำให้เกิดความตึงเครียด และความวิตกกังวลในชีวิต

การป้องกันอาการปวดหลัง
1.) เรียนรู้การใช้กิริยาท่าทางที่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน
2.) หลีกเหลี่ยงการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน 3.) หลีกเหลี่ยงการใช้แรงงานมาก ๆ และรู้ถึงขีดจำกัดกำลังของตัวเองในการยกของหนัก
4.) ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน ซึ่งทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวต้องรับน้ำหนักมาก โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สำหรับร่างกายให้ครบทุกประเภท
5.) บำรุงรักษาสุขภาพร่างกายทั่วไปให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ร่วมกับการออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ รำมวยจีน จะช่วยลดอาการปวดหลังจากการทำงาน
6.) ออกกำลังบริหารร่างกาย ป้องกันอาการปวดหลังอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีอาการปวดหลัง
7.) ปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มมีอาการ หรือสังเกตุเห็นความผิดปกติ

การบริหารร่างกายป้องกันอาการปวดหลัง
1. ประโยชน์
1.1 ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวไม่เกร็ง และแข็งแรงอยู่เสมอ
1.2 กระดูกและข้อเสื่อมช้าลง

2. หลักการ
2.1 เป็นการออกกำลังบริหารร่างกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หน้าท้อง หลัง
ตะโพก และต้นขา และเพื่อยึดกล้ามเนื้อด้านหลังของหลังและขา
2.2 ควรออกกำลังบริหารด้วยความตั้งใจ ทำช้า ๆ ไม่หักโหม บริหารอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
เช้า – เย็น และในแต่ละท่าการบริหารทำประมาณ 10 ครั้ง
2.3 ท่าบริหารท่าใดท่าที่ทำแล้วมีอาการปวดหลังมากขึ้น ให้งดทำในท่านั้น ๆ

3. ท่าการบริหารป้องกันอาการปวดหลัง
ท่านเตรียมบริหาร
นอนหงายบนที่ราบ ศรีษะหนุนหมอน ขาเหยียดตรง มือวางข้างลำตัว

ท่าที่ 1 ยืดกล้ามเนื้อด้านหลังของขา
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร ตั้งเข่าข้างหนึ่งขึ้นและวางเท้าราบกับพื้น ส่วนขาอีกข้างหนึ่งเหยียดตรงวางราบกับพื้น ยกขาที่เหยียดตรงนี้ขึ้น ให้สูงที่สุดเท่าที่ยกได้ โดยแผ่นหลังแนบกับพื้นตลอดเวลาไม่เคลื่อนไหว แล้วจึงค่อย ๆ วางขานี้ลงราบกับพื้นเหมือนเดิม พักสักครู่ ทำประมาณ 10 ครั้ง
แล้วจึงสลับบริหารขากอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกัน

ท่าที่ 2 เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้องและตะโพก และลดความแอ่นของหลัง
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร ตั้งเข่าทั้งสองข้างขึ้น วางเท้าราบกับพื้น หายใจเข้าและออกช้า ๆ พร้อมกับแขม่วหน้าท้อง กดหลังให้ติดแนบกับพื้น และเกร็งกล้ามเนื้อก้น [ขณะเกร็งกล้ามเนื้อก้น ก้นจะยกลอยขึ้น] ทำค้างไว้นานนับ 1-5 หรือ 5 วินาที และจึงคล้าย พักสักครู่และทำใหม่ในลักษณะเดียวกัน 10 ครั้ง

ท่าที่ 3 ยืดกล้ามเนื้อหลัง
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร ตั้งเข่าทั้งสองข้างเอามือกอดเข่าเข้ามาให้ชิดอก และยกศรีษะเข้ามาให้คางชิดเข่า ทำค้างไว้นานนับ 1-10 แล้วจึงคลาย พักสักครู่ และเริ่มบริหารใหม่ในลักษณะเดียวกัน ทำประมาณ 10 ครั้ง

ท่าที่ 4 ยืดกล้ามเนื้อตะโพก
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร เอามือกอดเข่าข้างหนึ่งเข้ามาให้ชิดอก พร้อมกับขาอีกข้างเหยียดตรงเกร็งแนบกับพื้น ทำค้างไว้นานนับ 1-10 แล้วจึงคลาย พักสักครู่ทำประมาณ 10 ครั้ง แล้วจึงสลับบริหารขาอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกัน

ท่าที่ 5 ยืดกล้ามเนื้อสีข้าง
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร ตั้งเข่าข้างหนึ่งขึ้นหันเข้าด้านในของลำตัว พร้อมกับใช้สันเท้าของอีกขาหนึ่งกอดเข่าที่ตั้งให้ติดพื้น โดยที่ไหล่ทั้งสองข้างติดพื้นตลอดเวลา ทำค้างไว้นานนับ 1-10 แล้วจึงคลาย พักสักครู่ และเริ่มบริหารใหม่ ทำประมาณ 10 ครั้ง แล้วจึงสลับ
บริหารขาอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกัน

สรุป
อาการปวดหลังสามารถป้องกันได้ในบางสาเหตุ ร่วมกับการบริหารร่างกายป้องกันอาการ
ปวดหลัง การรักษาในบางสาเหตุได้ผลมากน้อยเพียงไร ขึ้นกับปัจจัยส่งเสริมหลาย ๆ ประการ
การรักษาที่ถูกวิธีกับแพทย์เป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับท่าน ขอให้ท่านมีสุขภาพหลังที่แข็งแรงอยู่เสมอ


ที่มาี่ http://www.thailabonline.com/sec21muscularstrain.htm


คลิ๊กที่ภาพเพื่อแสดงรายละเอียด BS_101
คลิ๊กที่ภาพเพื่อแสดงรายละเอียด BS_101
คลิ๊กที่ภาพเพื่อแสดงรายละเอียด BS_101
        - เข็มขัดพยุงหลัง(back support)ช่วยลดอาการปวดหลัง
        - ป้องกันการบาดเจ็บที่ส่วนหลังในขณะยกของหนัก อาการปวดหลัง และช่วยพยุงกระดูกสันหลัง
        - ช่วยเสริมบุคคลิกโดยสามารถสวมทับเสื้อผ้า หรือสวมไว้ด้านใน ไม่อึดอัด เคลื่อนไหว ได้อิสระ ปรับความกระชับ ได้ตามความต้องการ
        - เหมาะสำหรับงานยกของหนัก,งานที่ต้องยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน
        - ช่วยควบคุมแผ่นหลังให้อยู่ในท่าที่ถูกต้องไม่โค้งงอ
        - เหมาะสมกับบุคคลที่อยากมีบุคลิกภาพดี
ราคาเพียง 380 บาท เท่านั้น



HOME |สมัครสมาชิก | ดูสินค้า | ติดต่อเรา | สั่งซื้อสินค้า | แจ้งโอนเงิน | ดูสถานะการจัดส่ง | แผนที่
ห้างหุ้นส่วนสามัญ เอสเอ็นเค2009 (สำนักงานใหญ่) เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 0 9 9 2 0 0 2 8 0 0 0 4 1
SNK2009 Ordinary Partnership (Head Office) Vat No: 0 9 9 2 0 0 2 8 0 0 0 4 1
37 ซอยบางกระดี่19 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
37 Soi Bangkadee 19 Bangkadee Rd.,Bangkhuntean,Bangkok 10150 Thailand
Tel.028969966 Fax.028961561 Email : sale.snk1999@gmail.com
Copyright © 2009 SNK2009 Ordinary Partnership  Check PageRank